หน่วยนำเข้าข้อมูล (Input Unit)

Working with computer

ทำหน้าที่รับข้อมูลที่ผู้ใช้ต้องการส่งให้คอมพิวเตอร์ทำการประมวลผลเข้าไปเก็บไว้ในหน่วยความจำหลักเพื่อให้หน่วยควบคุมทำการประมวลผลต่อไป อุปกรณ์นำเข้าข้อมูลที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีมากมายหลายประเภท อุปกรณ์ที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน มีดังนี้
1 แป้นพิมพ์ (Keyboard)

เป็นอุปกรณ์นำเข้าข้อมูลที่นิยมใช้กันมากที่สุด มีลักษณะคล้ายกับแป้นพิมพ์ของเครื่องพิมพ์ดีด ใช้สำหรับป้อนข้อมูลเข้าไปในเครื่องคอมพิวเตอร์ได้โดยตรง เมื่อเรากดตัวอักษรใดๆ บนแป้นพิมพ์ เครื่องคอมพิวเตอร์จะเปลี่ยนตัวอักษรเป็นรหัสสัญญาณทางไฟฟ้าส่งเข้าไปในหน่วยประมวลผลของเครื่อง แป้นพิมพ์ส่วนใหญ่จะถูกออกแบบแป้นเป็นกลุ่ม เช่น กลุ่มแป้นตัวอักษร กลุ่มแป้นตัวเลข กลุ่มแป้นควบคุมเคอร์เซอร์ และกลุ่มแป้นฟังก์ชันเฉพาะ แป้นพิมพ์ส่วนใหญ่ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันพัฒนาขึ้นจากแป้นพิมพ์ขนาดมาตรฐาน 101 คีย์ เป็น 104 คีย์ หรือ 105 คีย์ ซึ่งจำนวนคีย์ที่เพิ่มขึ้นมานี้ก็เพื่อการทำงานที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะกับระบบปฏิบัติการวินโดว์ 95 และวินโดว์ 98 ราคาของแป้นพิมพ์ชนิด 104 หรือ 105 คีย์นั้น มีราคาใกล้เคียงกับแป้นพิมพ์ชนิด 101 คีย์ นอกจากนี้ยังมีแป้นพิมพ์ที่ออกแบบมาให้ เหมาะสมกับตำแหน่งการวางมือของผู้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะมีราคาสูงกว่า เช่น แป้นพิมพ์ของบริษัทไมโครซอฟต์ และบริษัทไอบีเอ็ม เป็นต้น
แป้นพิมพ์สมัยใหม่จะมีตัวแปลงสัญญาณแบบ PS/2 คือแทนที่จะเป็นจุดเชื่อมต่อที่มีขนาดใหญ่ ก็จะเป็นจุดเชื่อมต่อที่มีขนาดเล็ก เวลาเสียบสายต่อแป้นพิมพ์เข้ากับตัวเครื่อง คอมพิวเตอร์อาจจะเกิดการสับสนระหว่างช่องแป้นพิมพ์กับช่องต่อเมาส์ที่เป็นตัวแปลงสัญญาณแบบ PS/2 เช่นเดียวกัน เพราะ 2 ช่องนี้จะมีขนาดเท่ากัน ความแตกต่างจะอยู่ที่ตำแหน่งของขาที่เสียบเข้าไปเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่บริเวณด้านหลังของเครื่องคอมพิวเตอร์จะมีรูปหรือสัญลักษณ์แสดงถึงตำแหน่งหรือช่องเสียบสำหรับอุปกรณ์พ่วงต่อต่างๆอยู่แล้ว
2 เมาส์ (Mouse)

เมาส์เป็นอุปกรณ์นำเข้าข้อมูลอีกประเภทหนึ่งที่ให้ผู้ใช้ติดต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์แทนแป้นพิมพ์ ทั้งนี้เพราะโปรแกรมที่ใช้งานในปัจจุบันส่วนใหญ่ออกแบบมาให้สามารถทำงานร่วมกับเมาส์ได้ เพื่อเป็นการลดภาระที่ผู้ใช้ต้องพิมพ์คำสั่งต่างๆ ผ่านทางแป้นพิมพ์ การใช้เมาส์ในการสั่งงานเครื่องคอมพิวเตอร์ ผู้ใช้เพียงแต่เลื่อนตัวเมาส์ไปบนโต๊ะ ที่จอภาพจะปรากฎเป็นลูกศรเล็กๆ เรียกว่าตัวชี้เมาส์ (Mouse Pointer) เคลื่อนที่ไปมาบนจอภาพในทิศทางเดียวกันกับที่ผู้ใช้เลื่อนตัวเมาส์ออกไป
เมื่อตัวชี้เมาส์เลื่อนไปอยู่ยังตำแหน่งที่ต้องการ (ส่วนมากจะเป็นรูปภาพ หรือไอคอนซึ่งใช้แทนคำสั่งหรือข้อความที่เป็นคำสั่ง) ให้ผู้ใช้กดปุ่มซ้ายที่อยู่บนตัวเมาส์ (คลิก) เพื่อเลือกรายการนั้นๆ ขึ้นมาทำงาน แต่ถ้าต้องการให้รายการนั้นๆ ทำงาน (Execute) ก็ให้กดปุ่มซ้ายสองครั้งติดต่อกัน ซึ่งเรียกว่า ดับเบิลคลิก (Double Click) จำนวนปุ่มที่มีอยู่บนตัวเมาส์นั้น ขึ้นอยู่กับบริษัทผู้ผลิต ซึ่งจะมีตั้งแต่ชนิดปุ่มเดียว 2 ปุ่ม หรือ 3 ปุ่ม ซึ่งมีราคาใกล้เคียงกัน เมาส์ที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน เราสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ชนิดดังนี้
เมาส์ที่อาศัยหลักการของลูกยางเพื่อสัมผัสกับแกนหมุนที่อยู่ด้านในของเมาส์
เมาส์ที่ใช้แสงอินฟราเรดเป็นตัวเซนเซอร์
เมาส์ที่มีลูกล้ออยู่ที่ปุ่มกด จะช่วยให้เราสามารถใช้งานโปรแกรมต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ช่วยลดเวลาในการลากเมาส์
เมาส์ที่มีแรงโต้ตอบ ยกตัวอย่างเช่น ในขณะที่เราเลื่อนเคอร์เซอร์ผ่านไอคอน เราจะรู้สึกฝืด หรือหากลากเมาส์ผ่านปุ่มต่างๆ ก็จะรู้สึกขรุขระ เป็นต้น
เมาส์โดยทั่วไปจะมีตัวแปลงสัญญาณอยู่ 2 แบบ แบบแรกคือเมาส์ที่ต่อกับพอร์ดอนุกรม แบบที่สองเป็นแบบที่ต่อกับพอร์ตแบบ PS/2 เมาส์ที่ใช้ตัวแปลงสัญญาณแบบแรกจะเป็นเมาส์ที่ต่อเข้ากับพอร์ตอนุกรม (com1) ที่จะมีขายื่นออกมาจากพอร์ต 9 ขา (Rs232) ส่วนเมาส์แบบ PS/2 จะใช้ตัวแปลงสัญญาณเดียวกับแป้นพิมพ์แบบ Ps/2
3 แทร็กบอล (Trackball)
เมื่อเมาส์ได้รับความนิยมในการนำไปใช้งานต่างๆ อย่างแพร่หลาย ทำให้มีผู้คิดค้นปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น โดยพัฒนาขึ้นมาเป็น แทร็กบอล ซึ่งมีลักษณะเหมือนเมาส์ขนาดใหญ่ที่หงายท้องขึ้น โดยแทร็กบอลมีวิธีการทำงานเช่นเดียวกับเมาส์ คือผู้ใช้จะใช้มือผลักลูกกลิ้งของแทร็กบอลไปรอบๆ ซึ่งทำได้ง่ายและรวดเร็วกว่าใช้เมาส์ เพราะแทร็กบอลจะอยู่กับที่ ไม่ต้องการพื้นที่บนโต๊ะสำหรับเลื่อนไปมาเช่นอย่างกรณีใช้เมาส์
แทร็กบอลเป็นอุปกรณ์ที่นิยมใช้กันมากในการใช้งานกับเครื่องคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้ว (Notebook) เพราะไม่ต้องการพื้นที่ในการทำงานมาก นอกจากนี้ยังมีการนำแทร็กบอลมาใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ (Desktop Computer) ข้อเสียของแทร็กบอลคือ การจับทำได้ค่อนข้างยุ่งยาก ทำให้ใช้งานไม่สะดวกเมื่อเปรียบเทียบกับเมาส์
4. ตัวเลื่อนเมาส์พอยท์เตอร์แบบสัมผัส (Touching Pad)
เป็นอุปกรณ์นำเข้าข้อมูลที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในเครื่องคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้ว (Notebook) ซึ่งใช้งานแทนเมาส์ และแทร็กบอล มีลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมเล็กๆ ด้านล่างมีปุ่มอยู่ 2 ปุ่ม ทำหน้าที่เหมือนกับปุ่มซ้ายและขวาของเมาส์ สามารถเลื่อนเมาส์พอยท์เตอร์ได้โดยการสัมผัสที่แผ่นสี่เหลี่ยม เมื่อผู้ใช้เลื่อนนิ้วที่สัมผัสไปมา จะเห็นว่าลูกศรที่เป็นเมาส์พอยท์เตอร์บนจอภาพเลื่อนตามในทิศทางของการเลื่อนนิ้วที่สัมผัสบนแผ่นสี่เหลี่ยมนั้น
5.จอภาพแบบสัมผัส (Touch Screen)
จอภาพแบบสัมผัสเป็นจอภาพชนิดพิเศษที่มีการตอบสนองอย่างละเอียดอ่อนมาก ทำให้ผู้ใช้สามารถใช้นิ้วมือสัมผัสกับจอภาพเพื่อเลือกรายการที่ต้องการทำงานได้ เป็นการเพิ่มความสะดวกในการใช้งาน โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องพิมพ์คำสั่งทางแป้นพิมพ์หรือไม่ต้องเลื่อนเมาส์ให้ยุ่งยาก
6.อุปกรณ์การวาดรูป (Drawing Device)
ทำหน้าที่คล้ายกับปากกา โดยที่คอมพิวเตอร์ยินยอมให้เขียนหรือวาดรูปด้วยมือเพื่อป้อนเข้าไปในเครื่องคอมพิวเตอร์ได้โดยตรง นิยมใช้ในงานศิลปะ วิศวกรรม และการออกแบบอุปกรณ์วาดรูปประกอบด้วย ปากกาแสง (Light Pen) พุค (Puck) และกระดานสำหรับวาดรูป (Drawing Board)
7.เครื่องอ่านพิกัด (Digitizer)
เป็นอุปกรณ์รับข้อมูลประเภทหนึ่ง มีลักษณะเป็นแผ่นกระดานสี่เหลี่ยม มีสายไฟฟ้าและอุปกรณ์คล้ายแว่นขยายที่มีขีดกากบาทตรงกลางพร้อมกับปุ่มสำหรับกด หน้าที่ของเครื่องนี้คืออ่านค่าพิกัดตำแหน่ง (Coordinate) ของจุดบนภาพที่ตรึงอยู่บนเพดาน โดยปกติมักใช้ในการอ่านจุดพิกัดของแผ่นที่ หรือตำแหน่งของภาพกราฟฟิค
8.เครื่องอ่านหมึกพิมพ์แม่เหล็ก (Magnetic Ink Character Recognition : MICR)
เป็นอุปกรณ์ที่ใช้อ่านข้อมูลที่มีลักษณะพิเศษ คือ พิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์แม่เหล็กแล้ว เปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้าเข้าสู่หน่วยประมวลผล เครื่อง MICR จะใช้กันมากในงานด้านธนาคารโดยใช้กับเช็ครับ – จ่าย ซึ่งถ้าสังเกตุดูเช็คของธนาคารทั่วไป
9.เครื่องอ่านอักษรหรือสัญลักษณ์พิเศษ (OCR : Optical Character Recognition)
เป็นอุปกรณ์อ่านข้อมูลโดยผ่านลำแสงบนเอกสารที่มีข้อมูลอยู่ แล้วแปลงรหัสเป็นสัญญาณไฟฟ้าเข้าไปเก็บในเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องอ่านโอซีอาร์สามารถอ่านข้อมูลได้จาก
ลายมือเขียนที่เป็นตัวอักษรและตัวเลข แต่ความผิดพลาดอาจเกิดขึ้นได้ในกรณีตัวอักษรที่เขียนไม่ชัดเจน หรือตัวอักษรที่เขียนออกมาแล้วมีลักษณะคล้ายกันมาก เช่น อักษร “ว” กับสระ “า”
ตัวพิมพ์มาตรฐานที่กำหนดโดย American National Standard Institute (ANSI)
รูปแบบ Mark Sense Form นำมาใช้ในงานตรวจกระดาษคำตอบแบบปรนัย โดยกระดาษคำตอบจะถูกออกแบบโดยเฉพาะ เครื่องอ่านโอซีอาร์แบบนี้ถูกนำมาดัดแปลง และเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โอเอ็มอาร์ (OMR; Optical Mark Reader)